เข็มทิศแห่งงาน โดย ฐิตินาถ ณ พัทลุง
facebook: เข็มทิศชีวิต ฐิตินาถ ณ พัทลุง
มีคนเขียนมาถามว่า 'ทำไมคนเราต้องทำงาน เบื่อบริษัท เบื่อเจ้านาย เบื่องาน”
ถ้ามองดูดีดีจะพบว่า การทำงานคือการที่มีคนมาจ่ายเงินให้เราได้พัฒนาตัวเอง
ไทเกอร์วู๊ดส์ ได้ทำสิ่งที่เขารัก ได้มีความสุขในการทำสิ่งที่ชอบ แล้วยังมีคนเอาเงินมาให้ จากการทำสิ่งนั้นด้วย
ในแต่ละงานที่เราทำ มีเรื่องใหม่ๆให้เราได้ค้นคว้า ศึกษาเรียนรู้ฝึกฝนตัวเอง ก่อนมอบประโยชน์ให้คนอื่น เราได้รับผลดีจากการเรียนรู้ก่อนใคร แล้วยังมีคนมาจ่ายเงินเดือนให้เราด้วย
ถ้าเรามองเห็นว่าเรามาปรากฏในโลกพร้อมด้วยความสามารถบางอย่าง ที่จะส่งมอบให้ชีวิตของคนหลายคนในโลกนี้สวยงามขึ้น เราทำงานเพราะเป็นวิถี ในการส่งมอบสิ่งดีงามในตัวของเรา เราจะทำงานด้วยความคิดสร้างสรรค์กระตือรือล้นมีความสุขทุกวัน
ผู้หญิงคนหนึ่งรักการทำขนม และเขียนอ่านหนังสือ เธอใช้ชีวิตในการเขียนตำราขนม ทำร้านขนมอร่อยๆที่มีคนมาต่อแถวกิน งานอดิเรกที่เป็นความสุขเป็นสิ่งที่เธอได้อยู่กับมันทุกวัน
หรืออีกคนรักการอ่านหนังสือ มีความสุขในการซื้อหนังสือมากองรอบตัว มีเวลานอนอ่านหนังสือไม่จำกัด รักการสอนการเล่าเรื่อง รักการมีเวลาไปภาวนาเพิ่มสติปัญญา แล้วเขาใช้ชีวิตในการเป็นนักเขียน นักบรรยายสร้างแรงบันดาลใจให้คน ได้อยู่ได้ทำได้ศึกษาสิ่งที่ตัวเองรัก พอใจรักก็ขวนขวายพัฒนา เติบโตทางปัญญาให้ตัวเองได้ชื่นใจก่อนทุกวัน
ลองสังเกตุตัวเราว่าเรารักการทำอะไร มีความสุขเวลาทำอะไร แล้วเราสามารถทำสิ่งนั้นเป็นงานที่มีรายได้มาดูแลครอบครัวดูแลคนที่เรารักให้มีทางเลือกในชีวิตมากขึ้นได้อย่างไร
ผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่าเธอรังเกียจการขาย การทำมาร์เก๊ตติ้ง เลยลาออกจากงานมาเลี้ยงลูกอยู่บ้าน วันหนึ่งสามีไปมีผู้หญิงใหม่ เธอไม่มีงาน ไม่มีเงิน อยากหอบลูกไปอยู่เมืองนอกก็ทำไม่ได้ขาดทางเลือกในชีวิต
การมองอย่างลึกซึ้งว่าเงินก็เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ ในการทำประโยชน์ ในการดูแลคนที่เรารักทำให้ชีวิตมีทางเลือก ไม่วิ่งไล่ล่าเงิน แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธเงิน เพราะในความจริงแล้วในฐานะของผู้ครองเรือนการปฏิเสธก็เป็นการยึดติดในอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน
เลือกทำสิ่งที่เรารักอย่างลึกซึ้ง มองสิ่งแวดล้อมภายนอกและภายในอย่างฉลาด ทำสิ่งดีดีอย่างพอดีในเวลาที่เหมาะสม ส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดในตัวเราอย่างเต็มที่แล้วปล่อยวางในผล
มีหลายคน ไม่อนุุญาตให้ตัวเองเจริญก้าวหน้า เพราะมีความเชื่อว่า ความมั่งคั่งคือการขายวิญญาณ ไม่มีอุดมการณ์ ภายหลังเธอพบว่า การเลือกเป็นลูกน้องเป็นแบ๊คกราวด์ ทำให้เธอไม่มีสิทธิ์เลือกกำหนดทิศทางของบริษัทในการทำสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อเธอเริ่มมองใหม่ว่าการเปลี่ยนความเชื่อการยอมรับความสำเร็จที่มาจากผลของการทำสิ่งดีดี อย่างชอบธรรม เธอจึงอนุญาตให้ตัวเองเปิดใจรับความสำเร็จ แล้วความเจริญก้าวหน้าจึงสามารถปรากฏขึ้นได้ในชีวิต
หลายครั้งที่คนเราต้องมีเวลาตรวจสอบความเชื่อและ ความขัดแย้งภายในตัวเอง เช่น ผู้ชายคนหนึ่งอยากมีความมั่นคงทางการเงินให้ครอบครัว แต่ส่วนลึกในจิตใต้สำนึกเชื่อว่า ถ้ารวยจะไม่มีเวลาให้ครอบครัว (ทั้งที่ในปัจจุบันต้องหาเงินจนไม่มีเวลาให้ครอบครัวอยู่แล้ว)และไม่อยากเกินหน้าพ่อ
ในห้องเรียนเข็มทิศจิตใต้สำนึก เขาได้เปลี่ยนความเชื่อที่เคยขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของตัวเอง มาเป็นความเชื่อที่ทำให้ตัวเองได้ทำสิ่งดีดีที่ตัวเองรักอย่างเต็มที่ ได้ดูแลครอบครัวที่ตัวเองรักทั้งในเรื่องเวลาและวิถีชีวิต ลูกได้ไปโรงเรียนดีดี พ่อแม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่คู่ควร
ให้เวลาทบทวนท่าทีมุมมองที่เราอาจไม่ได้นึกถึง ทัศนคติที่เรามีต่องาน ต่อความก้าวหน้า ต่อมิติด้านต่างๆในชีวิต แล้วเราอาจจะประหลาดใจที่พบว่า เหตุการณ์และผู้คนต่างๆที่ปรากฏขึ้นในชีวิตของเราเป็นภาพสะท้อนของความเชื่อ ที่อยู่ในใจส่วนที่ลึกที่สุดของตัวเราเอง
โพสต์ทูเดย์ ตุลาคม 2011
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น